อาณาจักรเหรียญกษาปณ์ทองคำ

บทความ

พระพุทธนวราชบพิตร พระพิมพ์จิตรลดา โครงการหลวง

29-06-2560 10:48:09น.

พระพุทธนวราชบพิตร พระพิมพ์จิตรลดา

โครงการสร้างพระพุทธนวราชบพิตร พระพิมพ์จิตรลดา ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ในวาระอันเป็นมิ่งมงคลสมัยอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี ในพุทธศักราช ๒๕๓๙ ควรที่พสกนิกรชาวไทยจะได้น้อมรำลึกถึงโอกาสสำคัญดังกล่าวเป็นนิรันดร จึงดำริที่จะจัดสร้างวัตถุมงคลที่ระลึกขึ้น โดยกำหนดเป็นโครงการสร้างพระพุทธนวราชบพิตร พระพิมพ์จิตรลดา เพื่อการสักการะบูชารำลึกถึงโอกาสมหามงคลดังกล่าว

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโครงการนี้ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์

มูลนิธิโครงการหลวง มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นที่ปรึกษา

หม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี ทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการ

พล.อ.ต. กำธน สินธวานนท์ เป็นรองประธานกรรมการอำนวยการ

นายวัลลภ เจียรวนนท์ เป็นประธานกรรมการดำเนินงาน

วัตถุประสงค์

๑.เพื่อให้พสกนิกรได้สักการะบูชา เป็นพุทธานุสติ ยึดมั่นในพระรัตนตรัย

๒.เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้แสดงความจงรักภักดี น้อมเกล้าฯ ถวายในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี และเพื่อน้อมรำลึกถึงโอกาสดังกล่าว

๓.รายรับอันพึงมีบ้างของโครงการซึ่งมิได้หวังการค้ากำไรเป็นที่ตั้งจะนำทูลเกล้าฯถวาย สนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและสาธารณะกุศล

การจัดสร้าง

                พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชทานเพื่อประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆ แต่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ที่ฐานบัวหงายของพระพุทธนวราชบพิตร ได้ทรงบรรจุพระพุทธรูปพิมพ์ ซึ่งทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์จากผงศักดิ์สิทธิ์นานาชนิด ทั้งในพระองค์และจากจังหวัดต่างๆ

                คณะกรรมการได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระพุทธนวราชบพิตร พระพิมพ์จิตรลดา ในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาศสัการะบูชา จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

                คณะกรรมการกำหนดจัดสร้างพระพุทธนวราชบพิตร พระพิมพ์จิตรลดา ดังนี้

๑.พระบูชาขนาดหน้าตัก ๑๒ นิ้ว เนื้อนวโลหะ จำนวน ๓ องค์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๑ องค์ มอบให้โครงการหลวง ๑ องค์ และเครือเจริญโภค๓ณฑ์ ๑ องค์ พระบูชานี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อพระและในโอกาสเดียวกัน ทรงหลอมทองชนวนสำหรับการจัดสร้างพระกริ่งและพระเนื้อโลหะอื่นอีกด้วย โดยประกอบพิธี ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๘

๒.พระกริ่งพิมพ์จิตรลดา เป็นองค์พระพุทธนวราชบพิตร ประทับบนอาสนะบัว ๒ ชั้น ขนาดหน้าตัก ๒.๒ ซม. สูง ๔.๖ ซม. ด้านหลังประดิษฐานตราสัญญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จัดสร้างเป็น เนื้อทองคำ นาก เงิน สัมฤทธิ์ และนวโลหะ

๓.พระพิมพ์จิตรลดาเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านหน้าเป็นพระพุทธนวราชบพิตร ด้านหลังเป็นตราสัญญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จัดสร้างเป็น เนื้อทองคำ เงิน นวโลหะ และเนื้อผง ขนาดใหญ่สูง ๓.๒ ซม. และขนาดเล็ก สูง ๒.๓ ซม. (เนื้อผงมีเฉพาะขนาดใหญ่)

เนื้อโลหะและทองชนวน

เนื้อโลหะที่ใช้สร้างพระพุทธนวราชบพิตร พระพิมพ์จิตรลดาทั้งหมด มีทองชนวนพระราชทานและแผ่นทอง ซึ่งลงและแผ่เมตตาโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก พระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตมะ) พระสุนทรธรรมการ (หลวงปู่คำพันธ์) พระญาณวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ) และพระเกจิอาจารย์สำคัญๆอีกหลายรูป กับทองชนวนสำคัญที่รวบรวมจากการจัดสร้างมงคลวัตถุต่างๆอีกจำนวนหนึ่ง

โลหะทั้งหมดจะหลอมในพิธีเททองหล่อพระพุทธนวราชบพิตรขนาดบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นชนวนสำหรับการสร้างพระกริ่งและพระพิมพ์จิตรลดาด้วย

พระเนื้อผง

คณะกรรมการได้รวบรวมผงจากสถานที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพบูชาทั่วพระราชอาณาจักรมาผสมเป็นมวลสารในการจัดสร้างพระเนื้อผงครั้งนี้ และยังได้รับความเมตตาจากบรรดาพระเกจิอาจารย์หลายรูปมอบผงเก่าและผงที่ท่านได้ทำขึ้นเป็นส่วนผสมอีกส่วนหนึ่ง

พิธีพุทธาภิเษก

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน ประกอยพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระเกจิอาจารย์จากทั่วประเทศ นั่งปรกปลุกเสก ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๘

รายละเอียดการจัดสร้าง

ในการจัดสร้างพระพุทธนวราชบพิตร พระพิมพ์จิตรลดา คณะกรรมการได้กำหนดรายละเอียดและจำนวนการจัดสร้าง ดังนี้

๑.พระกริ่งพิมพ์จิตรลดา ชุดพิเศษ เป็นองค์พระพุทธนวราชบพิตร ฐานบัวสองชั้น ขนาดหน้าตัก ๒.๒ ซม. สูง ๔.๖ ซม. ด้านหลังมีตราสัญญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จัดสร้างเฉพาะผู้สั่งจอง จำนวน ๑๐๘ ชุด ประกอบด้วย พระกริ่งเนื้อทองคำหนักประมาณ ๕๑ กรัม ๑ องค์ เนื้อเงิน ๑ องค์ เนื้อนาก ๑ องค์ เนื้อสัมฤทธิ์ ๑ องค์ เนื้อนวโลหะ ๑ องค์ พระพิมพ์จิตรลดาขนาดใหญ่ เนื้อทองคำ ๑ องค์ เนื้อเงิน ๑ องค์ เนื้อนวโลหะ ๑ องค์ พระพิมพ์จิตรลดาขนาดเล็ก เนื้อทองคำ ๑ องค์ เนื้อเงิน ๑ องค์ เนื้อนวโลหะ ๑ องค์ และพระพิมพ์เนื้อผง ๑ องค์ รวม ๑๒ องค์ บรรจุในกล่องไม้สวยงาม ผู้สั่งจองเข้าเฝ้าฯรับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๒.พระพิมพ์จิตรลดาขนาดใหญ่ สร้างเป็นรูปสามเหลี่ยม สูง ๓.๒ ซม. ด้านหน้าเป็นพระพุทธนวราชบพิตร ด้านหลังมีตราสัญญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จัดสร้าง ดังนี้

                ๒.๑ชุดพระทองคำ จัดสร้าง ๒,๕๓๙ ชุด ประกอบด้วยพระเนื้อทองคำ หนักประมาณ ๑๘ กรัม ๑ องค์ เนื้อเงิน ๑ องค์ เนื้อนวโลหะ ๑ องค์

                ๒.๒พระเนื้อเงิน จัดสร้าง ๔๐,๐๐๐ องค์

                ๒.๓พระเนื้อนวโลหะ จัดสร้าง ๔๐,๐๐๐ องค์

๓.พระพิมพ์จิตรลดาขนาดเล็ก สร้างเป็นรูปสามเหลี่ยม สูง ๒.๓ ซม. ลักษณะเหมือนขนาดใหญ่

                ๓.๑ชุดพระทองคำ จัดสร้าง ๕,๐๐๐ ชุด ประกอบด้วยพระเนื้อทองคำ หนักประมาณ ๙ กรัม ๑ องค์ เนื้อเงิน ๑ องค์ เนื้อนวโลหะ ๑ องค์

                ๓.๒พระเนื้อเงิน จัดสร้าง ๖๐,๐๐๐ องค์

                ๓.๓พระเนื้อนวโลหะ จัดสร้าง ๖๐,๐๐๐ องค์

๔.พระเนื้อผง ลักษณะและขนาดเหมือนพระพิมพ์จิตรลดาขนาดใหญ่ จัดสร้าง ๑,๐๐๐,๐๐๐ องค์

     นอกจากนี้มีการจัดสร้างพิเศษอีก คือ พระกริ่งพิมพ์จิตรลดาชุดพิเศษ ๖ ชุด พระพิมพ์จิตรลดาเนื้อผง ๕๐,๐๐๐ องค์ เพื่อทูลเกล้าถวายพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายพระบรมวงศานุวงศ์ และพระมหาเถระผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องคือ

๑.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระกริ่งพิมพ์จิตรลดา-ชุดพิเศษ ๑ ชุด พระพิมพ์จิตรลดาเนื้อผง จำนวน ๕๐,๐๐๐ องค์

๒.สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระกริ่งพิมพ์จิตรลดา-ชุดพิเศษ ๑ ชุด

๓.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระกริ่งพิมพ์จิตรลดา-ชุดพิเศษ ๑ ชุด

๔.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระกริ่งพิมพ์จิตรลดา-ชุดพิเศษ ๑ ชุด

๕.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี พระกริ่งพิมพ์จิตรลดา-ชุดพิเศษ ๑ ชุด

๖.สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปรินายก พระกริ่งพิมพ์จิตรลดา-ชุดพิเศษ ๑ ชุด

     และโครงการได้จัดสร้าง พระที่ระลึกสำหรับกรรมการ เป็นพระกริ่ง "เจริญโภคทรัพย์" เนื้อนวโลหะ ถอดพิมพ์จากพระกริ่งโบราณ จัดเป็นชุดรวมกับพระพิมพ์จิตรลดา เนื้อผงองค์ จำนวนทั้งหมด ๑,๙๙๙ ชุด ให้กรรมการที่ช่วยงานในครั้งนี้ร่วมบริจาคบูชาในจำนวนที่จำกัด

     พระชุดนี้นอกจากเนื้อหามวลสารที่สุดยอดแล้วพิธีก็เยี่ยม รูปทรงและพระพักตร์ที่งดงามประกอบกับเงินรายได้เข้าสมทบทุนโครงการหลวงทั้งหมดถือว่า นอกจากได้ของดีไว้ใช้แล้ว ยังได้ทำบุญทำกุศลอีกด้วย เพราะผู้สร้างได้ถวายเงินโดยพระราชกุศล สมทบทุนมูลนิธิโครงการหลวง ทั้งสิ้น ๒๗๗,๐๓๕,๐๒๖.๑๙ บาท

     พระเนื้อผงชุดนี้นิยมกันมาก เพราะมีการผสมผงกันหลายครั้ง จึงมีสีที่ต่างกัน ทำให้พระเนื้อผงที่มีสีคล้ำมีจำนวนน้อยกว่าพระเนื้อผงที่มีสีอ่อน ทำให้พระองค์ที่มีสีเข้มจะมีราคาสูงกว่าพระเนื้อผงสีอ่อน ซึ่งจริงๆ แล้วพุทธคุณของพระทุกสีไม่แตกต่างกัน.

รายนามพระเถระเจริญพระพุทธมนต์

พิธีพุทธาภิเษก วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๘

๑.สมเด็จพระพุฒาจารย์                         วัดสระเกศ

๒.สมเด็จพระมหาธีราจารย์                     วัดชนะสงคราม

๓.พระวิสุทธิวงศาจารย์                          วัดเทพธิดาราม

๔.พระสุเมธาธิบดี                                 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์

๕.พระวิสุทธาธิบดี                                วัดสุทัศน์เทพวราราม

๖.พระธรรมสิริสารเวที                            วัดบวรนิเวศ

๗.พระเทพสุธี                                      วัดปากน้ำ

๘.พระราชมงคลญาณ                            วัดปากน้ำ

๙.พระราชปฏิภาณโกศล                         วัดราชบพิตร

๑๐.พระพิศาลพัฒนาทร                          วัดปทุมวนาราม

รายนามพระเถระและพระคณาจารย์

นั่งปรกเจริญจิตภาวนา ในพิธีพุทธาภิเษก

๑.สมเด็จพระพุฒาจารย์                          วัดสระเกศ                             กรุงเทพฯ

๒.สมเด็จพระมหาธีราจารย์                      วัดชนะสงคราม                     กรุงเทพฯ

๓.พระวิสุทธิวงศาจารย์                           วัดเทพธิดาราม                      กรุงเทพฯ

๔.พระเทพสุธี                                       วัดปากน้ำ                              กรุงเทพฯ

๕.พระราชมงคลญาณ                             วัดปากน้ำ                              กรุงเทพฯ

๖.พระราชปริยัติวิธาน (บุศย์)                    วัดดาวดึงษาราม                   กรุงเทพฯ

๗.พระราชวิสุทธิคุณ (เกตุ)                      วัดเกาะหลัก                          ประจวบคีรีขันธ์

๘.พระราชอุดมมงคล (อุตตมะ)                 วัดวังก์วิเวการาม                  กาญจนบุรี

๙.พระราชพิพัฒนโกศล (โกศล)               วัดศรีสุดารามวรวิหาร          กรุงเทพฯ

๑๐.พระราชภาวนาวิกรม (ธงชัย)               วัดไตรมิตรวิทยาราม            กรุงเทพฯ                                               

๑๑.พระพิศาลพัฒนาทร (ถาวร)                วัดปทุมวนาราม                    กรุงเทพฯ

๑๒.พระอุดมประชานาถ (เปิ่น)                  วัดบางพระ                            นครปฐม

๑๓.พระครูวิมลสีลาภรณ์ (พูลทรัพย์)          วัดอ่างศิลา                            ชลบุรี

๑๔.พระครูสุนันทวิริยาภรณ์ (เก๋)                วัดแม่น้ำ                                 สมุทรสงคราม

๑๕.พระครูมานิตสมณวัตร (เนื่อง)              วัดสวนจันทร์                          นครศรีธรรมราช

๑๖.พระครูนนทสิทธิการ (ประสิทธิ์)            วัดไทรน้อย                             นนทบุรี

๑๗.พระครูวิเศษภัทรกิจ (ทองใบ)              วัดสายไหม                            ปทุมธานี

๑๘.พระครูอรรถธรรมาทร (เฮ็น)                 วัดดอนทอง                            สระบุรี

๑๙.พระครูปริยัติคุณาธาร (อัมพร)              วัดชนะสงคราม                     กรุงเทพฯ

๒๐.พระครูสิริชัยคณารักษ์ (สนั่น)               วัดกลางบางแก้ว                   นครปฐม

๒๑.พระครูกาญจโนปมคุณ (ลำใย)             วัดทุ่งลาดหญ้า                      กาญจนบุรี

๒๒.พระครูการุณธรรมนิวาส (หลวง)           วัดป่าสำราญนิวาส                              ลำปาง

๒๓.พระครูขันติยาภรณ์ (พรหม)                 วัดบ้านสวน                           พัทลุง

๒๔.พระครูภัทรกิจโสภณ (หวล)                 วัดพุทไธศวรรย์                      อยุธยา

๒๕.พระครูสุนทรยุติกิจ (เอียด)                   วัดไผ่ล้อม                               อยุธยา

๒๖.พระครูเกษมคณาภิบาล (มี)                  วัดมารวิชัย                             อยุธยา

๒๗.พระครูสังวรสมนกิจ (ทิม)                     วัดพระขาว                             อยุธยา

๒๘.พระครูสังฆรักษ์ (เฉลิม)                       วัดพระญาติการาม                               อยุธยา

๒๙.พระครูปลัดสุรินทร์ กิตติโก                    วัดนครหลวง                          อยุธยา

๓๐.พระครูสุวิธานศาสนกิจ (ไพรินทร์)           วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ         พิษณุโลก

๓๑.พระอธิการคล้อย ฐานธัมโม                   วัดถ้ำเขาเงิน                          ชุมพร

๓๒.พระครูสมุห์อวยพร                               วัดดอนยายหอม                   นครปฐม

๓๓.พระอธิการสมชาย พุทธสโร                   วัดโพรงอากาศ                      ฉะเชิงเทรา

๓๔.พระอธิการบุญเพ็ง เขมาภิรโต                วัดถ้ำกลองเพล                     หนองบัวลำภู

๓๕.หลวงปู่จันทรา ถาวโร                           วัดป่าเขาน้อย                        พิจิตร

๓๖.พระอาจารย์อุทัย สิริธโร                        วัดถ้ำพระภูวัว                       หนองคาย

พระเถระที่ไม่สามารถเดินทางมาได้ นั่งอธิบานจิตให้ที่วัด

๑.พระครูวิชัยประสิทธิคุณ (เชิญ)            วัดโคกทอง                             อยุธยา

๒.พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา (หลอด)    วัดสิริกมลาวาส                         กรุงเทพฯ               


ประวัติพระพุทธนวราชบพิตร

พระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริสร้างขึ้น เพื่อเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์ กับพสกนิกรของพระองค์พระพุทธนวราชบพิตรมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูป ภ.ป.ร.ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ต่างกันตรงที่พระพุทธรูป ภ.ป.ร. เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร แต่พระพุทธรูปนวราชบพิตรเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย กล่าวคือ พระหัตถ์ขวา แทนที่จะพาดหงายบนพระเพลา กลับเป็นพาดคว่ำบนพระเพลา ดังพระพุทธรูปปางมารวิชัยโดยทั่วไปนอกจากนี้ มีส่วนฐานที่มีความแตกต่างกันมาก โดยพระพุทธรูปนวราชบพิตรประทับนั่งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย (บัวสองชั้น) แต่บัวออกจะกลีบใหญ่กว่าฐานพระพุทธรูป ภ.ป.ร. และมิได้มีฐานเท้าสิงห์รองรับ ปราศจากผ้าทิพย์ประดับที่ฐานดังเช่นพระพุทธรูป ภ.ป.ร.ประการสำคัญก็คือ พระพุทธนวราชบพิตรจะต้องมี “พระสมเด็จจิตรลดา” ประดับไว้ที่ฐานบัวหงายตรงกึ่งกลางกลีบบัวที่อยู่ตรงกลาง ๑ องค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ได้มาจากปูชนียสถานสำคัญทั่วประเทศ ผสมด้วยผงส่วนพระองค์ เฉพาะอย่างยิ่งเส้นพระเจ้าทั้งนี้ ก็ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ ให้พระพุทธนวราชบพิตรเป็นที่สถิต ศูนย์รวมของบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่ได้มาจากทุกจังหวัดตลอดทั่วพระราชอาณาจักร เป็นจุดรวมของชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริงผู้ได้บูชาสักการะพระพุทธรูปนวราชบพิตรองค์เดียว ก็เท่ากับได้ท่องเที่ยวไปนมัสการปูชนียสถานมาถ้วนทั่วทุกแห่งในเมืองไทย

พระพุทธรูปนวราชบพิตรมีขนาดหน้าตักกว้าง ๒๓ ซม. (๙ นิ้ว) สูง ๔๐ ซม. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เข้าไปปั้นหุ่นถวายถึงในพระราชฐาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้ทรงตรวจตากำกับการปั้นหุ่น พุทธลักษณะของพระปฏิมาอย่างใกล้ชิด จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดให้หล่อขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ พร้อมกับได้พระราชทานพระนามว่า “พระพุทธนวราชบพิตร


พระพุทธนวราชบพิตรเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดขอบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย อีกทั้งยังเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพัน ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับพสกนิกรของพระองค์ในทุกจังหวัดตลอดทั่วพระราชอาณาจักร  พระพุทธนวราชบพิตรจึงเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่ง ในรัชกาลปัจจุบัน อันเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมีมาในบ้านเมืองของเรามาก่อน นับเป็นอนุสรณ์สำคัญยิ่งเนื่องในพระองค์ ที่ทรงมีพระราชปรารถนาดีต่อพสกนิกรของพระองค์ทั่วหน้าอีกทั้งยังเป็นการยกย่องเทิดทูนพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างพระพุทธปฏิมา อันเป็นอุทเทสิกเจดีย์ ปูชนียวัตถุสูงสุดแทนองค์สมเด็จพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชาวพุทธเราให้ความเคารพกันอย่างสูงสุด เป็นประธานในพิธีกรรมทั้งปวง ให้เป็นที่ปรากฏอยู่สืบไป ตราบชั่วกาลนานระเบียบปฏิบัติ ด้วยเหตุที่พระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระพุทธรูปสำคัญยิ่ง เป็นมิ่งขวัญของแต่ละจังหวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่พสกนิกรของพระองค์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ ดังได้กล่าวมาแล้ว ทางสำนักพระราชวังจึงได้วางระเบียบปฏิบัติ เกี่ยวกับพระพุทธนวราชบพิตรไว้หลายประการ อาทิ เมื่อจังหวัดใดได้รับพระราชทานไปแล้ว ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ศาลากลางจังหวัด เมื่อทางจังหวัดจัดงานพิธีใดๆ ก็ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้เป็นประธานในพิธีนั้นๆ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดเพื่อทรงเป็นประธานในพระราชพิธี หรือพิธีของทางจังหวัด ก็ให้อัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระราชพิธีหรือในพิธีนั้นๆ ทุกครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมยังจังหวัด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชาในพลับพลา หรือในที่ประทับแรมตลอดเวลาที่ประทับอยู่ และให้อัญเชิญกลับไปยังศาลากลางจังหวัด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว ฯลฯนอกจากนี้ ยังมีบทสวดพิเศษ ชื่อว่า “ชยมังคลคาถา” สำหรับให้พระสงฆ์สวด ในพิธีพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรประจำจังหวัด ไว้โดยเฉพาะอีกด้วยอนึ่ง กระทรวงมหาไทยยังได้ออกระเบียบไว้ เมื่อปี ๒๕๑๐ ชื่อว่า “แนวพิธีการพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร” สำหรับให้แต่ละจังหวัด ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เมื่อได้รับพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรไว้อีกโสดหนึ่งด้วย


จังหวัดแรกที่ได้รับพระราชทานจังหวัดแรกที่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ก็คือจังหวัดหนองคาย ซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ในโอกาสนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวจังหวัดหนองคาย มีความสำคัญที่ขออัญเชิญมาเฉพาะบางตอน ดังนี้ข้าพเจ้ามาเยี่ยมท่านคราวนี้ ได้นำพระพุทธนวราชบพิตรมามอบให้ด้วย พระพุทธรูปองค์นี้ข้าพเจ้าสร้างขึ้นเพื่อมอบไว้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ที่ฐานบัวหงายข้าพเจ้าได้บรรจุพระพิมพ์องค์หนึ่ง ซึ่งทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ อันได้มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร... ฯลฯ...”“...พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของประเทศไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนชาวไทยอีกด้วย ข้าพเจ้าจึงได้บรรจุพระพิมพ์ที่ทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าว และนำมามอบให้แก่ท่านด้วยตนเอง”“ขออนุภาพแห่งพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านให้พ้นจากทุกข์ภัยทุกๆประการ บันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในการประกอบอาชีพ และมีความสมัครสมานกัน ในอันที่จะร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองของเราสืบไป
พระพุทธนวราชบพิตรจึงเป็นพระพุทธรูปสำคัญยิ่งแห่งยุค ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ ให้เป็นมิ่งขวัญแก่บรรดาชาวพุทธในราชอาณาจักรไทย สืบไปชั่วกาล