อาณาจักรเหรียญกษาปณ์ทองคำ

บทความ

เหรียญรัชกาลที่5 จปร รุ่นกาญจนาภิเษก พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ

29-06-2560 10:48:09น.

เหรียญรัชกาลที่5 จปร รุ่นกาญจนาภิเษก

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีในพ.ศ. 2539 นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองแผ่นดินที่ยืนยาวที่สุดในโลก ซึ่งมิเคยปรากฏมีมาในประวัติศาสตร์แห่งชาติใดๆมาก่อน และตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์นั้น พระองค์ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ อันทรงคุณประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประเทศชาติ ส่งผลให้เกิดความผาสุกต่อปวงอาณาประชาราษฎร์ โครงการพระราชดำรินับร้อยนับพัน โครงการเพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไร่ชาวนา โครงการที่ยังประโยชน์แก่บ้านเมือง เช่น โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม และอีกมากมายที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนของพระองค์

เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและมีความจงรักภักดีมั่นคงในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้มีจิตสมานฉันท์เห็นพ้องต้องกันว่า ควรที่จักดำเนินการจัดการกองทุนขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในโครงการตามพระราชดำริและจัดสร้างพุทธปูชนียสถานเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงมีต่อประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และประชาชนอย่างใหญ่หลวงหาที่สุดมิได้ตลอดมา

การสร้างพุทธปูชนียสถานในครั้งนี้ คณะกรรมการได้จัดสร้าง พระมหาธาตุเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการจัดสร้างขึ้นบนเนินเขาชายทะเลในบริเวณวัดทางสาย หมู่ที่9 บ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยที่พระมหาธาตุเจดีย์ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเขาที่ยื่นออกไปในทะเล มองเห็นทิวทัศน์ที่งดงามได้รอบทิศทาง พระมหาธาตุเจดีย์เฉลิมพระเกียรติได้รับการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดย ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี ศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไทย ลักษณะพระมหาธาตุเจดีย์ทรง 9 ยอด บนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรมุข กว้างด้านละ 50 เมตร สูง 50 เมตร ภายในองค์พระมหาธาตุเจดีย์ แบ่งเป็น 5 ชั้น คือ ชั้นใต้ดินเป็นที่เก็บน้ำฝน ชั้นเอนกประสงค์ ชั้นวิหาร ชั้นพระอุโบสถ และชั้นเรือนประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ องค์พระมหาธาตุเจดีย์ภายนอกบุด้วยโมเสคทองคำ และโมเสคแก้ว ภายในซุ้มโดยรอบประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่มีพระพุทธลักษณะงดงาม รูปแบบของพระมหาธาตุเจดีย์เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยกรุงรัตนโกสินทร์ ประจำรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต่อมาได้รับชื่อว่า พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ

พระมหาธาตุเจดีย์แห่งนี้เมื่อสร้างเสร็จจะได้เป็นสถานที่ในการประกอบศาสนกิจ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนอันมีต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ที่มีการสืบทอดมาแต่โบราณกาล และเพื่อการนี้ ท่านสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา ประธานคณะกรรมการกองทุนเทิดพระเกียรติ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้น โดยอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชอัยกา มาประดิษฐานไว้ด้านหนึ่ง และอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ จปร ไว้อีกด้านหนึ่ง นับเป็นเหรียญพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ที่ได้มีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอย่างถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ และสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงพระเมตตารับเป็นองค์ประธานในพิธีมังคลาภิเษก

ในการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกในวโรกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ โรงกษาปณ์รัฐบาลฝรั่งเศส โมเน่ร์ เดอ ปารีส์ ซึ่งเป็นโรงกษาปณ์เก่าแก่ที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ได้มีส่วนร่วมเฉลิมฉลองในพระราชพิธีอันสำคัญกับประชาชนชาวไทย โดยรับจัดเป็นผู้ทำเหรียญที่ระลึกมหามงคลนี้ โดยรวบรวมประติมากรผู้มีชื่อเสียงเข้าร่วมพิจารณาดำเนินการด้วยระบบเทคโนโลยีชั้นสูงและจัดทำกล่องบรรจุให้อย่างประณีตสวยงาม ทุกเหรียญมีใบรับรองคุณภาพจากโรงงาน เหรียญรัชกาลที่ ๕ รุ่นนี้ถือได้ว่าสมบูรณ์ครบถ้วน งามที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด

รายการจัดสร้างเหรียญร.๕ จากโรงกษาปณ์รัฐบาลฝรั่งเศส โมเน่ร์ เดอ ปารีส์ โดยทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต

1.เหรียญทองคำขัดเงา 26.5x30 มม. 595 ชุด (ทองคำ,เงิน,บรอนซ์) ทองคำหนัก23กรัม

2.เหรียญทองคำนูนสูง 26.5x30 มม. 595 ชุด (ทองคำ,เงิน,บรอนซ์) ทองคำหนัก30กรัม

3.เหรียญเงินขัดเงา 26.5x30 มม. 5,555 เหรียญ

4.เหรียญเงินนูนสูง 26.5x30 มม. 5,555 เหรียญ

5.เหรียญบรอนซ์ขัดเงา 26.5x30 มม. 15,555 เหรียญ

6.เหรียญบรอนซ์นูนสูง 26.5x30 มม. 15,555 เหรียญ

7.พระบรมรูปแผ่นบูชาทองคำ 26.5 ซม. 19 แผ่น ทองคำหนัก2,000กรัม

8.พระบรมรูปแผ่นบูชาเงิน 26.5 ซม. 199 แผ่น เนื้อเงินบริสุทธิ์

9.พระบรมรูปแผ่นบูชาบรอนซ์ 26.5 ซม. 1,555 แผ่น เนื้อบรอนซ์

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารพระเครื่องกรุงสยาม ปีที่1 ฉบับที่12 ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2538