อาณาจักรเหรียญกษาปณ์ทองคำ

บทความ

เหรียญพระมหาชนก : เหรียญแห่งความเพียร

29-06-2560 10:48:09น.

เหรียญพระมหาชนก : เหรียญแห่งความเพียร

        เมื่อครั้งดำเนินการจัดทำหนังสือพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนกนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ ให้จัดสร้างเหรียญพระมหาชนกคู่ เคียงกันไปด้วย ในครั้งนั้นศิลปินและประติมากรร่วมกันออกแบบถวาย เพื่อทรงวินิจฉัยหลายแบบด้วยกัน แต่ทรงมีพระราชปรารภว่า ควรเป็นรูปที่พระมหาชนกกำลังว่ายน้ำ และหันมาสนทนาธรรมกับนางมณีมขลา ซึ่งแนวพระราชดำรินี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้เคยทรงร่างเป็นภาพายเส้นไว้ จึงได้นำมาเป็นต้นแบบที่ด้านหนึ่งของเหรียญ พร้อมกำกับอักษรว่า"พระมหาชนก  เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเทวนาครีไว้

          เหรียญพระมหาชนกจัดสร้างขึ้นพร้อมกับงานพิมพ์พระราชนิพนธ์ ด้วยนัยแห่งพระราชดำริ อันพ้องกับคติธรรม ซึ่งดำรงอยู่ในเรื่องราวแห่งพระชาดกนั้น
  ที่ต้องมีเหรียญนี่ เป็นพระราชดำริที่ลุ่มลึกมากนะครับ  อาจารย์ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ประติมากรผู้ปั้นแบบเหรียญพระมหาชนก อธิบาย “ เพราะหนังสือ เมื่อเราอ่านแล้ว เราก็วางไว้กับบ้าน เวลาเราไปไหน บางครั้งอาจจะลืม เหรียญนี่เป็นขนาดเล็กติดตัวไปได้ ซึ่งเหรียญนี้ไม่ได้บรรยายความว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ว่า ให้เป็นเหรียญที่ระลึกนึกถึงสิ่งที่เราได้เคยอ่านจากหนังสือ เวลาที่เราเกิดความท้อแท้ เหรียญนี้จะคอยเตือนเราว่า เราควรจะมีความเพียรนะ เพราะฉะนั้น หน้าที่ ของเหรียญ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของการบรรยายความ แต่เป็นหน้าที่ ของการเตือนให้ผู้ที่มีเหรียญ ได้ระลึกถึง  พร  ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มอบให้เขาว่า ทุกคนควรจะมีความเพียร ไม่ควรท้อแท้ ถึงแม้ว่า จะไม่เห็นจุดหมายปลายทางของความเพียร แต่เราก็ควรจะดำเนินต่อไป”

          งานจัดสร้างเหรียญผ่านกระบวนการปั้น แกะบล็อก หล่อ จนถึงการพิมพ์ออกเป็นเหรียญ แต่ทว่า ก็ยังไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายดังเช่นงานจัดสร้างเหรียญทั่วไป ซึ่งอาจารย์นนทิวรรธน์ ได้เล่าให้ฟังว่า
  
ใช้มือแฮน เมด (hand made) นี่ขัดลงไปบนพื้นผิว มีการรมให้คล้ำเล็กน้อย เพื่อจะให้เกิดน้ำหนักอ่อนแก่ขึ้นบนพื้นผิวของเหรียญ เราจะสังเกตเห็นว่า เหรียญของพระมหาชนก จะเป็นเหรียญที่มีความนุ่มนวลมากทั้งในเรื่องของผิวสัมผัส และน้ำหนักอ่อนแก่ที่เกิดขึ้น นอกเหนือไปจากแสงเงาในเหรียญแล้ว

          อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ปรากฏพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์ธรรมดา พระหัตถ์ทรงดินสอและแผนที่ ที่พระศอปรากฏสายสะพายกล้องถ่ายรูป อันเป็นภาพที่ชาวไทยคุ้นตามานานกว่า ๕๐ ปี “
 รูปนี้ คณะกรรมการหรือพวกเราซึ่งเป็นผู้ที่ได้ช่วยกันเลือกนี่ เห็นว่าเป็นรูปที่จะได้แสดงความหมายของพระมหากษัตริย์ของเราชัดเจน อาจารย์นนทิวรรธน์กล่าว  เพราะจะเห็นว่าชีวิตเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของพระองค์ อยู่ท่ามกลางพสกนิกรที่กำลังมีปัญหา และทรงช่วยแก้ปัญหานั้นทุกอย่างให้ลุล่วงไปได้.....”

         รูปแบบของเหรียญพระมหาชนก ไม่ปรากฏลวดลายประดับ เพื่อภาพวิจิตรในเชิงความงามอันตระการ แต่รูปลักษณ์ซึ่งสมถะ กลับสมบูรณ์ด้วยความงามแห่งธรรม
  จะเห็นว่ารูปนี้ เป็นเหรียญที่มีลักษณะเรียบง่าย และสื่อความหมาย ในเรื่องของความเพียรเป็นหลัก  อาจารย์นนทิวรรธน์ เสริม  แล้วก็มีตัวหนังสือที่จะสื่อความหมายได้บ้าง มีตราพระปรมาภิไธยย่อ เพื่อแสดงว่าเป็นเหรียญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ” ค่าแห่งเหรียญพระมหาชนกย่อมประมาณราคามิได้ เช่นเดียวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระราชนิพนธ์ เพื่อทรงบอกเล่าเรื่องราวแห่งความเพียรและเหรียญพระมหาชนก คือสิ่งอันเตือนความจำถึงความเป็นไปแห่งข้อธรรม จากบทพระราชนิพนธ์นั้น

         “
 มีรับสั่งว่า เหรียญนี้แทบไม่จำเป็นต้องปลุกเสกเลย เพราะว่าขลัง แค่ความเพียรนี่ก็ขลังพอแล้ว ”ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ หนึ่งในศิลปินผู้ถวายงานวาดภาพประกอบพระราชนิพนธ์เล่าถึงความประทับใจ  เหรียญนี้เกี่ยวกับความมานะ ความเพียร ความอุตสาหะ มันขลังยิ่งกว่าอะไรในโลก ขลังยิ่งกว่าพระเข้าไปสวดอีก นี่คือพระราชกระแสรับสั่งของพระองค์ท่าน ประทับใจผมมาก ผมรับจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน ผมแขวนอยู่องค์เดียวเลยตลอดเวลา และนึกอยู่เสมอ อันนี้นะไม่ใช่แขวนแล้วพระจะช่วยอะไรเรา เรานึกถึงพระ ทำให้เรามีกำลังใจว่า เราจะทำอย่างนี้เราจะทำให้สำเร็จ.”

          เหรียญพระมหาชนก จัดสร้างด้วยเนื้อโลหะอันทรงคุณค่า 3 ชนิด คือ เนื้อทองคำ มีความบริสุทธิ์ ร้อยละ 99.99 น้ำหนัก 34 กรัม เนื้อนาก อันมีส่วยผสมของทองคำ ร้อยละ 40 น้ำหนัก 24 กรัม และเนื้อเงิน มีความบริสุทธิ์ ร้อยละ 99.99 น้ำหนัก 23 กรัม โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 29 มิลลิเมตร ด้านบนเหรียญประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.” พร้อมรัศมีเป็นเรือนยอด มีการตกแต่งผิวแบบด้าน ลักษณะงดงามอลังการแฝงไว้ด้วยความมีชีวิตชีวา มีพลังแห่งความเพียรเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและการฟันฝ่าอุปสรรค สมดั่งพุทธภาษิตที่มีมาในพระธรรมบทว่า วิริเยนทุกขมจติ อันมีความหมายว่า บุคคลย่อมล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยความเพียร

เหรียญพระมหาชนกเป็นเหรียญที่จัดสร้างขึ้นควคู่กับหนังสือ “พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ฯ” เมื่อแรกเปิดให้ผู้สนใจสั่งจอง 2 แบบ 2 ราคา คือ 1. ชนิดราคา 50,000 บาท ประกอบด้วย หนังสือพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ฯ เล่มสีน้ำเงิน จำนวน 1 เล่ม พร้อมเหรียญพระมหาชนก 3 กษัตริย์ คือ เหรียญพระมหาชนก เนื้อทองคำ  1 เหรียญ เนื้อนาก 1 เหรียญ และเนื้อเงิน 1 เหรียญ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน 2. ชนิดราคา 5,000 บาท ประกอบด้วย หนังสือพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ฯ เล่มสีแดง จำนวน 1 เล่ม พร้อมเหรียญพระมหาชนกเนื้อเงิน  1 เหรียญ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯเป็นองค์ประธานในการประกอบพระราชพิธีชัยมังคลาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์และประทับอธิฐานจิตเจริญภาวนาชัยมงคลภิเษก ร่วมกับพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ จำนวน 9 รูป และระหว่างพิธีมีสายฝนโปรยปรายตลอดเวลาเสมือนหนึ่ง เป็นน้ำเทพมนต์จากฟากฟ้าร่วมอนุโมทนาในพิธีเป็นมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯประทับเป็นองค์ประธาน ทรงจุดเทียนชัยในพิธีชัยมังคลาภิเษก ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมและทรงโปรยข้าวตอกดอกไม้ นับเป็นมหาสิริมงคลอันยิ่งใหญ่ เป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก ยังผลให้เหรียญพระมหาชนกและหนังสือพระราชนิพนธ์ ถึงพร้อมด้วยพระมหากษัตริยาธิคุณ อันยิ่งใหญ่แห่งองค์สมเด็จพระบรมธรรมิกราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้เหรียญพระมหาชนก มีความพิเศษกว่าเหรียญที่ระลึกโดยทั่วๆไป คือเป็นเหรียญพลังแห่งความเพียร ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันปิดจองแล้วผู้ที่ไม่ได้จองต่างเสียดายตามๆกัน เพราะจัดสร้างตามจำนวนสั่งจอง จึงแสดงความจำนงไปยังคณะกรรมการจัดสร้างที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเพิ่มเติม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตแต่ให้ลดขนาดเหรียญและขนาดหนังสือ เล็กลงกว่าการสร้างครั้งแรกและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จฯทรงประกอบพิธีชัยมังคลาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ปัจจุบันเหรียญพระมหาชนกทั้งสองขนาด ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ที่มา : หนังสือมหามงคลแห่งแผ่นดิน โดย นายอดุลย์นันท์ทัต กิจไชยพร พฤศจิกายน 2551